11 months ago / Admin

TBN เคาะราคาหุ้นไอพีโอ 17 บาท เปิดจองซื้อ 12-14 มิ.ย. นี้

TBN ipo

ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น (TBN) เคาะราคาขายไอพีโอ (IPO) หุ้นละ 17 บาท กำหนดเปิดให้จองซื้อวันที่ 12-14 มิถุนายน ปักธงเทรด mai 19 มิถุนายนนี้ ระดมทุนรองรับแผนการขยายธุรกิจ-เพิ่มและพัฒนาบุคลากร 

วันที่ 9 มิถุนายน 2566 นายธีรฉัตร ศิลปสนธยานนท์ ผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN เปิดเผยว่า ทีบีเอ็น ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอ (IPO) จำนวน 25 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท ที่ราคาหุ้นละ 17 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน นี้คาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจเทคโนโลยี (TECH) ในวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ในชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “TBN”รายงานระบุว่า สำหรับราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 17 บาท ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม ชูจุดเด่นที่น่าสนใจของ TBN เป็นผู้ให้บริการ Low-Code แพลตฟอร์มที่เป็นเทรนด์ของธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องการพัฒนาซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นที่รวดเร็วอีกทั้งประสบการณ์และทีมงานผู้เชี่ยวชาญในด้านการให้บริการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์มากว่า 15 ปี เป็นโอกาสขยายตลาดตอบโจทย์ลูกค้า สร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคตไปกับยุคของดิจิทัลด้านนางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวถึงจุดเด่นของ TBN ว่า เป็นผู้ให้บริการ Low-Code ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในเอเชียโดยได้รับความไว้วางใจจาก Siemens แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ MENDIX เพื่อผลักดันการใช้ Low-Code Platform รายแรกในประเทศไทย และปัจจุบันมีเพียงรายเดียว ตอกย้ำการเป็นพันธมิตรกับผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทข้ามชาติ และลูกค้าบลูชิปทั่วอุตสาหกรรมอีกทั้งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว CAGR ที่ 31.60% พร้อมแนวโน้มเชิงบวกในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นดิจิทัลแบบครบวงจรที่มีรายได้ต่อเนื่อง (Recurring Income) ณ สิ้นปี 2565 อยู่ในระดับสูงมากกว่า 50%ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในรายได้ของ TBN มีความมั่นคงต่อเนื่อง พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการพัฒนาและให้บริการด้าน Digital Solutions แบบครบวงจร (One Stop Service) ที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในเอเชีย ได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคตนายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN กล่าวว่า บริษัทพร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจ การเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญที่จะสนับสนุนให้ TBN เติบโตตามกลยุทธ์ที่วางไว้เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในการพัฒนาและให้บริการด้าน Digital Solutions แบบครบวงจร ด้วยวิสัยทัศน์ มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำการขับเคลื่อนธุรกิจด้วย Low-Code และ AI-Driven และสร้าง Digital Transformation เพื่อยกระดับธุรกิจคู่ค้าให้ไปสู่ระดับภูมิภาคโดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวนประมาณ 425 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อรองรับการทำ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ใช้ในการเพิ่มจำนวนบุคลากรการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับจำนวนโครงการและจำนวนบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้นทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายทีมงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับงานโครงการประเภทงานพัฒนาระบบ (Digital Solution Services) ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอนาคตจากการที่หลายองค์กรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในองค์กรมากขึ้น ควบคู่ให้ความสำคัญในการควบคุมต้นทุนการให้บริการ จึงได้จัดตั้งแผนก TBN MENDIX Academy เพื่อการบริหารธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาวสำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 มีรายได้จากการให้บริการของบริษัท อยู่ที่ 360.55 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้นจากการให้บริการ 102.39 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 28.40 และมีกำไรสุทธิ 35.56 ล้านบาทล่าสุดผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 1/2566 มีรายได้จากการให้บริการของบริษัท อยู่ที่ 116.83 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้นจากการให้บริการ 49.22 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 42.13 และมีกำไรสุทธิ 25.98 ล้านบาทนางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า TBN ถือเป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์ม Low-Code ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชั่นมีความรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม 6-10 เท่าโดยไม่ต้องอาศัย Software Developer จำนวนมาก ทำให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจสูงขึ้น จึงเป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ แต่ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสในการขยายตลาดโดยปัจจุบัน TBN มีลูกค้าทั้งกลุ่มธนาคาร สถาบันการเงิน ค้าปลีก อุตสาหกรรมโรงงาน และภาครัฐ เป็นต้นเงินระดมทุนครั้งนี้จะสนับสนุนให้ TBN สามารถขยายการให้บริการพัฒนาแอปพลิเคชั่นของบริษัท และขยายขอบเขตการขายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ (License) ไปสู่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างครอบคลุม เช่น อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้าง Platform Solutionรวมถึงต่อยอดการให้บริการ MENDIX สำหรับสถาบันการเงิน การธนาคาร ธุรกิจประกันภัย และอุตสาหกรรมอื่น ๆ สร้างฐานลูกค้าใหม่ รวมถึงการเพิ่มยอดขายในลูกค้าเก่า ตอกย้ำ TBN คือหนึ่งในผู้นำการพัฒนาและให้บริการด้าน Digital Solutions ที่เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต

 

อ่านเพิ่มเติม


11 months ago / Admin

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จ่อเปิดกระดานเทรดหุ้นอีอีซี นำร่องด้วยเงินดอลลาร์

หุ้นไทยสกพอ. ร่วมมือ ตลท.-ก.ล.ต.-ธปท. พัฒนาแหล่งระดมทุนใหม่ จ่อเปิดกระดานเทรดหุ้นอีอีซี นำร่องด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มุ่งเป้าหมาย “กลุ่มบริษัทข้ามชาติ-ธุรกิจขนาดใหญ่-เอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ” ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน หวังดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกสู่พื้นที่ EEC

วันที่ 8 มิถุนายน 2566 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เปิดเผยว่า อีอีซีได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งระดมทุน EEC (EEC Fundraising Venue) เพื่อเป็นการสร้างระบบนิเวศสำหรับการลงทุนใน EEC ซึ่งจะทำให้บริการการเงินในตลาดเงินและตลาดทุนของไทยโดยรวมมีความหลากหลาย

 

โดยนักลงทุนจะสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน ระดมทุน และเข้าถึงบริการการเงินด้วยความคล่องตัวและในต้นทุนที่เหมาะสม โดยมุ่งเป้าหมายที่กลุ่มบริษัทข้ามชาติ กลุ่มผู้ประกอบการไทยขนาดใหญ่ กลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ตอัพใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC

โดยอีอีซี และ ตลท. โดยความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.และ ธปท. จะร่วมกันจัดทำ Feasibility Study
เพื่อพัฒนาแหล่งระดมทุนดังกล่าว โดยพัฒนาระบบรองรับการระดมทุนและการซื้อขายหลักทรัพย์สำหรับกลุ่มผู้ระดมทุนเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี บนโครงสร้างพื้นฐาน (Platform) ของ ตลท. โดยมีแนวคิดพัฒนา 2 ส่วน ได้แก่

1.บนแหล่งระดมทุนเดิม (Traditional Path-SET) พัฒนากระดานระดมทุน EEC ที่ระดมทุนด้วยเงินตราต่างประเทศเป็นหลัก จะเริ่มด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นลำดับแรก ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจที่ต้องการจะระดมทุนและจัดทำงบการเงินหรือใช้เงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินหลัก สามารถทำธุรกรรมกู้ยืมระดมทุน และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯได้โดยสะดวก โดย ตลท.จะพิจารณาแนวทางการพัฒนาระบบซื้อขายและแพลตฟอร์มของตลาด

2.บนแหล่งระดมทุนรูปแบบใหม่ (Digital Path) ระดมทุนในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange-TDX) ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ ในการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (high value added) ที่ต้องการระดมทุนในรูป Project Finance รวมถึงกลุ่มสตาร์ตอัพ และกลุ่มธุรกิจที่เป็น Innovation Base

“อีอีซีเชื่อมั่นว่าการพัฒนาแหล่งระดมทุน EEC ใหม่นี้ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสนับสนุนบริการการเงินในตลาดทุนและตลาดเงินของประเทศ ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ เพิ่มทางเลือกให้กับธุรกิจในการระดมทุนในสกุลเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกในการให้บริการการเงินรูปแบบใหม่ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระดมทุน สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่อีอีซีและประเทศไทย” นายจุฬากล่าว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งระดมทุน EEC (EEC Fundraising Venue) จะเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ระดมทุนทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศ ที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็น functional currency ให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่บริษัทไทยที่ไปจดทะเบียนในต่างประเทศให้มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือทางการเงินที่แตกต่างให้กับผู้ลงทุนในตลาดได้

และ ตลท. มีความยินดีที่สนับสนุน EEC ในการพัฒนาดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบัน ตลท. ได้มีการพัฒนาเกณฑ์เข้าจดทะเบียนในรูปแบบ New Economy Track ด้วยสกุลบาท ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่สนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของ EEC สามารถเข้าจดทะเบียนได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำกระดาน US dollar น่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนที่ไม่ได้อยากรับความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศแต่สนใจหลักทรัพย์ underlying ของไทยเป็นสำคัญ

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สนับสนุนการพัฒนาแหล่งระดมทุน EEC (EEC Fundraising Venue) และเล็งเห็นว่าการพัฒนาโครงการนี้ จะอำนวยประโยชน์ให้กับทั้งผู้ออกหลักทรัพย์และนักลงทุน ในการเลือกสกุลเงินที่จะระดมทุนและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนโดยยังคงยึดถือกฏเกณฑ์ เงื่อนไขการเข้าจดทะเบียน ซึ่งอิงหลักการเดิมของการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุน

นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับเป้าหมายของ ก.ล.ต. ที่สนับสนุนเรื่องการลงทุนและการระดมทุนของ New Economy เพื่อเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ยินดีสนับสนุนการพัฒนาแหล่งระดมทุน EEC (EEC Fundraising Venue) การพัฒนาโครงการนี้มีความสอดคล้องกับนโยบายของ ธปท. ที่สนับสนุนให้คนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับนักลงทุนไทยที่ต้องการถือสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศให้มีทางเลือกในการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ออกระดมทุนในประเทศไทยเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ

อ่านเพิ่มเติม