11 months ago / Admin

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเฟดประชุมสัปดาห์หน้า คงดอกเบี้ย-มติไม่เป็นเอกฉันท์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ภาพจากเว็บไซต์ กสิกร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเฟดประชุม FOMC 13-14 มิ.ย.นี้ มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00-5.25% รอดูแนวโน้มเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ

วันที่ 9 มิถุนายน 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในการประชุม FOMC วันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ คาดว่าเฟดน่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00-5.25% ด้วยมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ เพื่อรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า หลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในช่วงผ่านมา โดยแม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง และตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐที่อ่อนแรงลงต่อเนื่องขณะที่ตลาดแรงงานเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาภาคธนาคารสหรัฐที่นำมาซึ่งภาวะสินเชื่อตึงตัว (credit tightening)ประกอบกับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาซึ่งคาดว่าจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงที่ชัดเจนขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากผลของนโยบายการเงินมักมีความล่าช้า (lag time) จะส่งผลให้เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ เพื่อรอดูเสียงสะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และภาคการเงินในระยะต่อไปทั้งนี้ ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งจะสะท้อนมุมมองของเฟดต่อทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี หากในระยะข้างหน้าทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่างจากที่ประเมิน เฟดก็ยังมีความยืดหยุ่นที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าได้โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าเฟดอาจมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC ในวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ แต่เฟดยังคงไม่ปิดโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปหากมีความจำเป็น โดยหากเงินเฟ้อกลับมาพุ่งขึ้นอีกรอบท่ามกลางความเสี่ยงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มผันผวน ก็มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไปได้อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเฟดอาจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดย ณ ขณะนี้ตลาดส่วนใหญ่ยังไม่มองการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ชะลอตัวลงรุนแรงกว่าที่ประเมินอย่างมีนัยสำคัญ

 
อ่านเพิ่มเติม


11 months ago / Admin

“อาคม” ประกาศ เป้าหมายประเทศไทยสู่ Net Zero ภายในปี 2608

“อาคม” เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของ OECD ที่กรุงปรารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ยันประเทศไทยตั้งเป้าไปสู่ Net Zero ภายในปี 2608 ระดมเครื่องมืองทางการคลังสนับสนุน

วันที่ 9 มิถุนายน 2566 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี (Meeting of the Council at Ministerial Level 2023) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ระหว่างวันที่ 7-8 มิถุนายน 2566 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในฐานะ Non Member ที่เป็นหุ้นส่วนระดับประเทศ ตามคำเชิญจากนาย James Cleverly รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ในฐานะประธานการประชุม โดยมีสาระสำคัญของการประชุมสรุปได้ ดังนี้

1.ที่ประชุมได้หารือถึงแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศสมาชิก OECD โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถเผชิญความท้าทายต่าง ๆ ในระยะต่อไป และส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและทั่วถึง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยการให้แต่ละประเทศควบคุมเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกัน ก็ให้รักษาวินัยทางการคลัง ด้วยการลดการช่วยเหลือทางการเงินที่ไม่จำเป็น

2.ที่ประชุมเห็นว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคตควรเน้นใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถ้อยแถลงว่า ประเทศไทยได้ตั้งเป้าเพื่อไปสู่ Net Zero ภายในปี 2608โดยใช้นโยบายหลักคือ Bio-Circular-Green Economy Model (BCG Economy Model) และกระทรวงการคลังได้ใช้เครื่องมือทางการเงินการคลังสนับสนุนการไปถึงเป้าหมายดังกล่าว เช่น มาตรการทางภาษีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาล เป็นต้น และเสนอให้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเร่งให้เป้าหมาย Net Zero เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยยินดีที่จะสนับสนุนและร่วมมือกับ OECD ต่อไปในอนาคต

3.ที่ประชุมให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ร่วมกัน ยึดมั่นในตลาดเสรีที่เปิดกว้าง ให้ประชาชนในประเทศสมาชิก OECD ทุกกลุ่มมีส่วนร่วม และเป็นไปตามกฎระเบียบสากลนอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมหารือกลุ่มย่อยในประเด็นด้านภาษีและการพัฒนา ซึ่งได้มีการหารือถึงสถานการณ์ปัจจุบันของภาษีระหว่างประเทศ แนวทางการเพิ่มความโปร่งใสในประเทศกำลังพัฒนา และการเสริมสร้างขีดความสามารถของภาษีระหว่างประเทศ

อ่านเพิ่มเติม