'เรืองไกร' ยื่น กกต.สอบ 'พิธา' ปมหุ้นไอทีวี เจ้าตัวเชื่อเกมเตะตัดขา ช่วงโค้งสุดท้าย

269 มุมมอง

0   0

วานนี้ (10 พ.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด ซึ่งจากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบข้อมูลของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ว่า

เป็นนิติบุคคลที่ยังดำเนินกิจการอยู่
เป็นธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนชัดเจน
เป็นบริษัทลูกของอินทัช
ยังคงมีการนำส่งรายได้ในแต่ละปี

ทั้งนี้ จะเป็นการร้องเรื่องคุณสมบัติและข้อห้าม ถือเป็นความผิดเฉพาะบุคคล ไม่ถึงขั้นยุบพรรคเหมือนกรณีอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ในตอนนั้นถูกยุบจากกรณีหุ้นกู้

ส่วนกรณีที่นายพิธา ระบุว่าเป็นผู้จัดการมรดก และได้ชี้แจงกับ ป.ป.ช.ไปแล้ว ก็ต้องขอขอบคุณ เพราะเหมือนเป็นการยอมรับกลายๆ และให้การภาคเสธ (รับครึ่ง ไม่รับครึ่ง) แต่รายชื่อผู้ถือหุ้น บมจ.6 ระบุชื่อตรงๆ และชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น การยื่นร้องจึงมุ่งประเด็นตรวจสอบเรื่องการขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวของนายพิธา ผ่าน กกต. เพื่อส่งให้ศาลธรรมนูญวินิจฉัย

หากศาลฯรับ ถือเป็นเรื่องใหญ่ และโดยส่วนตัวได้เตรียมข้อมูลทางกฎหมายไว้พร้อมแล้ว โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ไปยื่นเรื่องต่อ ปปช. กรณีนายพิธาไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินหุ้นสื่อด้วย ทั้งนี้ นายเรืองไกรไม่เปิดเผยรายละเอียดผู้ที่ส่งข้อมูลมาให้ แต่เชื่อว่ามาจากคนที่ประชุมหุ้นไอทีวี ซึ่งมีจำนวนมาก

นาย ภาณวัฒน์ ขวัญยืน หนึ่งในผู้ถือหุ้นไอทีวี ได้เข้าประชุมผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 (เข้าประชุมด้วยตัวเอง) แล้วได้ถามคำถามว่า บริษัทไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อ หรือไม่

โดยประธานที่ประชุมตอบว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ

วานนี้ (10 พ.ค. 66) นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผอ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ส.ส.ท.) โพสต์ข้อความเกี่ยวกับไอทีวี ว่า สรุปสาระสำคัญของบริษัท ไอทีวี จากรายงานประจำปี 2565

1. หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ตั้งแต่ 24.00 น.วันที่ 7 มีนาคม 2550 สืบเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

2. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย delist ถอดหุ้นไอทีวีจากการซื้อขาย ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2557

3. ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการฟ้องร้องพิพาททางกฏหมายกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากกรณีที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า

- การบอกเลิกสัญญาของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฏหมาย
- ให้ สปน.ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท

3.1 ต่อมา สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอาุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของ สปน.

3.2 มกราคม 2564 สปน.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา

4. ปีบัญชี 2565 ไอทีวี มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ 20.5 ล้านบาท (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้และตราสารทุน) กำไรสุทธิ 8.5 ล้านบาท

5. ไอทีวี มีบริษัทย่อย 1 บริษัท คือ บ.อาร์ตแวร์มีเดีย ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนต์และรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ สถานะปัจจุบันของบริษัท คือ หยุดประกอบกิจการ

6. กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่โดยพฤติการณ์มีอิทธิพบต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนินงาน บ.ไอทีวีในปัจจุบัน คือ บ.อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

7. การรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของ บ.ไอทีวี เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับสปน. (ความเห็นผู้เขียน)


อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://ch3plus.com/news/political/morning/347529
-------------------------
#เรื่องเล่าเช้านี้ (Morning News)
วันที่ 11 พฤษภาคม 2566
ติดตามความเคลื่อนไหวข่าวสารก่อนใครได้ที่นี่
ch3plus : https://ch3plus.com/news/programs/morning
facebook : https://www.facebook.com/MorningNewsTV3
Twitter : https://twitter.com/MorningNewsTV3
YouTube : https://cutt.ly/MorningnewsTV3

#3PlusNews #Ch3Plus #ข่าวช่อง3
ดูเพิ่มเติม

ความเห็น

0 ความเห็น